นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ได้คิดค้นสร้างนวัตกรรมแพลอยน้ำส่งเสริมการเกษตรขนาดย่อม (Smart Farm) เหมาะสำหรับการเกษตรแบบใหม่ โดยการนำเทคโนโลยีในการบริหารงานเกษตร ด้วยการทำการทดลอง ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ และปลูกมะเขือเทศ ควบคู่กับการเลี้ยงปลาในกระชัง บนแพลอยน้ำที่มีขนาด แพลอยน้ำที่มีขนาด 6 x 6 เมตร
โดยนักศึกษาใช้เวลาว่างจากเลิกเรียนมาช่วยกันการก่อสร้างประกอบแพใช้เวลาประมาณ 10 วัน โดยวัสดุส่วนใหญ่ก็เป็นวัสดุที่เหลือใช้ จึงนำมาดัดแปลงทำเป็นแพลอยน้ำดังกล่าวราคาต้นทุนการสร้างเพลอยน้ำพร้อมระบบติดตั้งประมาณ 28,000 บาท (รวมทุกอย่างแล้วเหล็ก มอเตอร์ แผงโซล่าเซลล์ แผงวงจรไฟฟ้า,อุปกรณ์ปลูก) โดยควบคุมการให้น้ำ อาหาร และอุณหภูมิ ผ่านแอพพลิเคชั่นที่เขียนขึ้นเอง ผ่านสมาร์ทโฟน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนขอแค่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ตก็สั่งการได้หมดเหมาะกับเกษตรกรที่เป็นมือใหม่หัดปลูกและมืออาชีพที่เป็นฟาร์มได้
ด้านอาจารย์ สิทธิศักดิ์ โรจชะยะ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง กล่าวว่า นักศึกษาได้นำความรู้จากการที่ได้เรียนมา ไม่ว่าจะเป็นการเขียนโปรแกรมควบระยะไกล การให้พลังงานทดแทนอย่างโซล่าเซลล์มาใช้งานจริง รวมทั้งการสร้างระบบควบคุมโรงเรือนอัตโนมัติด้วย Internet of Things (IoT) ร่วมกับพลังงานแสงอาทิตย์หลักการทำงานของนวัตกรรมแพลอยน้ำ สำหรับปลูกผักไฮโดรโปนิกส์และเลี้ยงปลา แบบผสมผสานจากปัญหาเกี่ยวกับการดูแลผักไฮโดรโปนิกส์ และเลี้ยงปลา ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่มักจะเป็นการไม่มีเวลาดูแล เพราะว่าต้องทำงานอย่างอื่นควบคู่ไปด้วย ผลสำเร็จของนวัตกรรมแพลอยน้ำส่งเสริมการเกษตรชิ้นนี้นอกจากจะนำไปเผยแพร่ต่อเกษตรนำไปต่อยอดแล้วก็ คือ เกิดการทำงานเป็นทีม การนำองค์ความรู้มาประยุคใช้กับการทำงานได้จริง
นายยสินทร แสงหล้า นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า กล่าวว่า ตนเองและเพื่อนๆในห้องเรียน ร่วมกันสร้างแพลอยน้ำนี้ขึ้นมาพร้อมกับการคิดค้น และพัฒนาการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ และระบบให้อาหารปลาแบบอัตโนมัติ เพื่อเป็นการประหยัดเวลาในการที่ต้องดูแลผักไฮโดรโปนิกส์ และให้อาหารปลาโดยการใช้เทคโนโลยีทางด้านระบบควบคุมโรงเรือนอัตโนมัติผ่าน IoT ร่วมกับพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งได้มีการออกแบบระบบควบคุมแบบอัตโนมัติต่างๆ ไว้ ซึ่งประกอบด้วยระบบควบคุมสารละลายธาตุอาหารแบบอัตโนมัติสำหรับปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ด้วย Internet of Things (IoT) ระบบควบคุมการไหลเวียนของน้ำแบบอัตโนมัติสำหรับปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ด้วย Internet of Things (IoT) ระบบควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนแบบอัตโนมัติสำหรับปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ด้วย Internet of Things (IoT) ระบบควบคุมการให้อาหารปลาแบบอัตโนมัติด้วย Internet of Things (IoT) ระบบควบคุมการเพิ่มออกซิเจนในกระชังเลี้ยงปลาแบบอัตโนมัติด้วย Internet of Things (IoT) และระบบควบคุมการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบอัตโนมัติด้วย Internet of Things (IoT)
จากการดำเนินงานดังกล่าวปรากฏว่าผักไฮโดรโปนิกส์มีความเจริญเติบโตได้ดี สามารถใช้ระยะเวลาในการปลูกเพียง 25-30 วันก็สามารถเก็บผักได้แล้ว ร่นระยะเวลาการเก็บเกี่ยวได้เร็วขึ้น (จากเดิม 45 วัน) ส่วนมะเขือเทศที่ได้ทำการทดลองปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์ ก็มีความเจริญเติบโตได้ดีเช่นเดียวกันได้ผลผลิตที่มากกว่าปลูกด้วยดิน และผลโตกว่าอย่างเห็นได้ชัด ผลิตได้เร็วกว่าเช่นกันเก็บเกี่ยวผลผลจากเดิม 4-5 เดือน มาเป็น 2-3 เดือน รวมถึงไม่มีแมลงศัตรูพืชต่างๆมารบกวนเพราะแพจะลอยอยู่กลางน้ำทำให้หนอน แมลงเข้าถึงได้ยากขึ้น ซึ่งนวัตกรรมแพลอยน้ำส่งเสริมการเกษตรขนาดย่อมนี้ทางนักศึกษาและมหาวิทยาลัยฯก็พร้อมที่จะถ่ายทอดให้เกษตรกรผู้สนใจนำไปประยุตใช้กับแปลงผักหรือฟาร์มของเกษตรต่อไป