• ภาษาไทย
    • English

โครงการวิจัยการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำต้นทุนและระบบการจัดสรรน้ำด้วยสมดุลน้ำรายตำบลในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระด้วยนวัตกรรมและการมีส่วนร่วม

วันที่ 8-9 มีนาคม 2566 ผู้ช่วยศาสตราจารย์นเรศ ขวัญทอง อาจารย์ศยมน พุทธมงคล อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ในฐานะผู้ร่วมวิจัย โดยมี ดร.ณัฐพล แก้วทอง อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย และองค์กรภาคีเครือข่ายติดตามโครงการวิจัยการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำต้นทุนและระบบการจัดสรรน้ำด้วยสมดุลน้ำรายตำบลในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระด้วยนวัตกรรมและการมีส่วนร่วม จัดกิจกรรม ณ ศาลากลางน้ำ อุทยานเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลสาบสงขลา อ.สทิงพระ จ.สงขลา โดยกิจกรรมมีการนำผลผลิตท้องถิ่นที่ได้มาจากนวัตกรรมการมีส่วนร่วมของชุมชนนำมาจัดแสดง และมีการร่วมเสวนาหัวข้อเรื่องของการปรับตัวของเกษตรกรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลกในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ สำหรับแนวทางการจัดการที่เหมาะสมของพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ คือ การศึกษาและวิเคราะห์ถึงปริมาณการใช้น้ำของทุกกิจกรรมรวมถึงการใช้น้ำเพื่อการเกษตรระดับตำบล รวมทั้งปริมาณน้ำต้นทุนที่ใช้ได้ในแต่ละปี ทั้งจากปริมาณน้ำฝน และปริมาณน้ำจากห้วยหนอง คลอง บึง ต่างๆ ผ่านการวิเคราะห์ความสมดุลน้ำ ทำให้ทราบถึงปริมาณการขาดแคลนน้ำที่แท้จริง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำต้นทุนและกักเก็บน้ำในอนาคตได้ จึงมีการวิจัยโดยสร้างเครื่องวัดความเค็มของน้ำแบบเรียลไทม์ส่งข้อมูลทุกๆ 2 ชั่วโมง วางกระจายทั่วบริเวณทะเลสาบเพื่อให้ทราบค่าความเค็มของน้ำในแต่ละพื้นที่ของทะเลสาบ ว่าเป็น น้ำเค็ม น้ำจืด หรือน้ำกร่อย เพื่อส่งข้อมูลให้ประชาชนหรือผู้ใช้ประโยชน์ในน้ำคาบสมุทรสทิงพระทราบความเค็มของน้ำล่วงหน้า หากประชาชนและผู้ใช้น้ำสามารถคาดการณ์ความเค็มของน้ำได้ล่วงหน้าก็สามารถวางแผนทำการเกษตรให้เหมาะสมได้ ลดความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำและปัญหาการรุกล้ำของน้ำเค็มในพื้นที่ดังกล่าวได้ ซึ่งเป็นการบริหารจัดการน้ำให้มีความเหมาะสมและยั่งยืน